ตามรอยอดีต “ประพาสต้นบนดอย”
- วันศุกร์ 13 กรกฎาคม 2555 9:40
- บทความสถาบันฯ, รวมเรื่องเด่น
- อ่าน 17,462 ครั้ง
- 5 ความเห็น
ตามรอยอดีต “ประพาสต้นบนดอย”
ถนนที่เริ่มคดเคี้ยวบอกใบ้ว่าเรากำลังไต่ระดับขึ้นสู่เขตพื้นที่สูง จุดหมายปลายทางของฉันอยู่ที่สถานีเกษตรของมูลนิธิโครงการหลวงซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ และห่างจากชายแดนพม่าเพียงไม่กี่กิโลเมตร
ก่อนหน้านี้ชื่อโครงการหลวงที่ฉันคุ้นเคยตามผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หาซื้อได้ในกรุงเทพ ทำให้คิดเสมอว่าแต่ละบาทแต่ละสตางค์ของเราได้ช่วยกระจายรายได้สู่เกษตรกรบนพื้นที่สูง
แต่เมื่อการเดินทางจบลง ความรู้ใหม่ที่ได้รับคือ เราไม่ได้ช่วยเหลือพวกเขาแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น พวกเขายังช่วยให้คนเมืองกรุงอย่างฉันมี “ตัวเลือก” มากขึ้นในการบริโภคพืชผักผลไม้ทั้งเมืองหนาวและเมืองร้อน (ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกสารพัดชนิด) ที่สะอาดและปลอดภัยจากเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรและยาฆ่าแมลง
“ผมขึ้นมาครั้งแรกเดือนเมษายนปี 2517 พื้นที่แถบนี้เป็นภูเขาหัวโล้นทั้งหมด ชาวบ้านแผ้วถางป่า ทำไร่ แล้วก็เผา”จำรัส อินทร เจ้าหน้าที่รุ่นแรกของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เท้าความหลังถึงสถานีเกษตรหลวงแห่งแรกในความทรงจำ “พวกเขาเผาทำไร่ฝิ่นครับ”
ในยุคนั้น ฝิ่นและข้าวไร่ถือเป็นพืชพื้นฐานสองชนิดที่ชาวเขานิยมปลูกบนพื้นที่สูงของไทย ข้าวไร่นั้นปลูกสำหรับบริโภคในครัวเรือน
ส่วนฝิ่นนอกจากใช้แทนยาบรรเทาความเจ็บป่วยสารพัดแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญอีกด้วย
“พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงสนพระทัยชีวิตของราษฎร เวลาเสด็จฯไปเชียงใหม่ ท่านทรงทราบว่าบนดอยมีชาวเขา แต่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร
นอกจากเรื่องปลูกฝิ่นแล้ว ไม่มีใครรู้เรื่องราวเหล่านี้เลย ท่านเสด็จฯโดยเฮลิคอปเตอร์แล้วทรงพระดำเนินต่อไป จึงทรงทราบว่าชาวเขาทำลายต้นน้ำลำธารเพื่อปลูกฝิ่น แต่ว่าไม่ร่ำรวยอย่างที่คนเขาคิดกันหรอก
สามเหลี่ยมทองคำนี่ พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่าไม่ใช่ทองคำหรอก แต่เป็นสามเหลี่ยมยากจน คนปลูกฝิ่นไม่ได้เงินเท่าไหร่ คนเอาฝิ่นไปขายต่างหากถึงรวย” หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ทรงเล่าถึงที่มาของโครงการหลวง
ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ขึ้นเพื่อทดลองและส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำอย่างเป็นระบบ ภายหลังโครงการนี้ได้พัฒนาต่อมาจนกลายเป็น “โครงการหลวง” ซึ่งเป็นรู้จักอย่างกว้างขวางในทุกวันนี้
เมื่อแสงแรกทาบทาพ้นแนวทิวเขาขึ้นมา ชาวเขาในชุดประจำเผ่าเทินตระกร้าสานสะพายบนหลังด้วยท่วงท่าทะมัดทะแมง บ้างเดิน บ้างขี่มอเตอร์ไซค์ มุ่งหน้าสู่เรือกสวนไร่นา ที่แปลกตาไปหน่อยเห็นจะเป็นชุดประจำเผ่าที่ใส่คู่กับรองเท้าบูตยาง
หลายชั่วอายุคนมาแล้ว ชาวเขาเดินเท้าเปล่าหรือไม่ ก็ลากรองเท้าแตะขึ้นดอยจนกลายเป็นความเคยชิน รองเท้า บูตยางจึงเป็น “ของแปลกใหม่” ที่พวกเขาต้องใช้เวลาทำความรู้จักและรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ฉันใดก็ฉันนั้น การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมายาวนานอย่างการปลูกฝิ่นจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งเวลา ความเข้าใจ และความอดทน
“เราเข้าไปทำงานนี่ เราไปบอกว่าเราจะช่วยเขา มันเหมือนเขาลำบากอยู่ แต่จริงๆแล้ว วิถีชีวิตเขาเป็นแบบนั้นเอง” สมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ เล่าถึงหลักการในการส่งเสริมพืชเมืองหนาวเพื่อทดแทนฝิ่น “เราเริ่มจากการทำงานสาธิตในศูนย์ ปลูกผัก ปลูกไม้ผล บ๊วย พีช พลับ เพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อนว่าปลูกได้ไหม แล้วก็เป็นตัวอย่างให้แก่ชาวบ้าน นอกจากนั้นเราก็ไปเยี่ยม ศึกษาชาวบ้าน เรียนรู้ทัศนคติของเขา” สมชายเล่า
“ช่วงแรกเราไปศึกษาปฏิทินการเกษตรของเขา ใช้เวลาปีนึง ระหว่างนี้เขาก็เดินผ่านแปลงสาธิตของเรา ก็นึกอยากลองปลูก อีกส่วนหนึ่งผมทำงานกับยุวเกษตรกร ปลูกกระเทียม ผักกาดหอมห่อต้นในสถานี พอเด็กได้เงิน ชาวบ้านก็ได้เงิน” กว่าจะจูงใจชาวบ้านให้มาปลูกไม้ผลและผักเมืองหนาวนั้นใช้เวลานานหลายปี แต่ในที่สุดบนดอยอ่างขางก็มีทั้งแปลงเกษตรของเจ้าหน้าที่และของชาวเขา
ดอยอ่างขางมีรูปร่างเหมือนอ่างสมชื่อ บริเวณ “ก้นอ่าง” เป็นป่าปลูกและที่ตั้งสถานีเกษตร และเมื่อฉันเดินขึ้นไปถึง “ขอบอ่าง” ด้านที่ติดกับชายแดนพม่า เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่ง ชื่อว่าโรงเรียนบ้านขอบด้ง ครูเรียม สิงห์ทร ครูคนแรกของโรงเรียนเล่าว่า เมื่อครั้งที่ในหลวงเสด็จฯเยี่ยมโรงเรียน พระองค์ตรัสเพียงสั้นๆว่า “ฝากเด็กๆด้วยนะครู” เด็กๆลูกศิษย์ของครูเรียมก็คือลูกหลานชาวเขาเผ่ามูเซอดำและปะหล่องที่อาศัยอยู่รอบสถานีเกษตรหลวงนั่นเอง
ห่างจากโรงเรียนบ้านขอบด้งมาเพียง 3-4 กิโลเมตร วีระเทพ เกษตรกรชาวเขารุ่นใหม่วัย 24 ปี ผู้ปลูกปวยเล้งและเบบี้สลัด เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านขอบด้งและไปเรียนต่อจนจบ ปวส.ด้านการเกษตรมาจากเชียงราย
วันนี้เขาเลือกกลับมาทำเกษตรอย่างพ่อแม่ที่บ้านเกิด แม้จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปบ้างอย่างการซื้อข้าวกิน (แต่เดิมปลูก) แต่แปลงผักของเขาก็ทำให้ครอบครัวมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ฐานะมั่นคง และมีอาชีพสุจริต วีระเทพอธิบายขั้นตอนและระบบการจัดการ ไล่เรียงมาตั้งแต่โรงเรือนที่ใช้กันฝน ไปจนถึงการคัดเกรดและส่งผัก อย่างละเอียดและคล่องแคล่ว
บ่ายวันเดียวกัน ฉันเดินชมนิทรรศการอยู่ในพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงแห่งที่หนึ่ง ณ ตีนดอยอ่างขาง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปผลผลิตแห่งแรกของโครงการหลวง นอกจากจะให้อาชีพแก่ชาวบ้านตีนดอยแล้ว ว่ากันว่าโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตรงนี้เพื่อ “ขวาง” เส้นทางลำเลียงยาเสพติดในอดีตอีกด้วย
ในห้องสุดท้ายของนิทรรศการ กระดาษสีขาวผืนใหญ่บนผนังมีภาพวาดนกสองตัวเคียงกัน ฉากหลังเป็นเทือกเขาใหญ่ คำกลอนที่เขียนด้วยอักษรจีนบนภาพ แปลความได้ว่า “นกจำนวนร้อยๆ ตัวส่งเสียงต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ จิ้งหรีดร้อยๆ ตัวส่งเสียงต้อนรับฤดูฝน” ภาพวาดชิ้นนั้นเป็นผลงานของหยางกงกง ศิลปินชาวจีน อดีตทหารจีนคณะชาติของเจียงไคเช็คที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทยเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน
เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อธิบายว่า นกคู่ของหยางกงกงคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ซึ่งชาวบ้านเทิดทูนให้อยู่คู่กับพื้นที่สูง
ส่วนชาวบ้านเองคือจิ้งหรีดซึ่งแสดงความยินดีเมื่อความอุดมสมบูรณ์มาเยือน
หลังจากรถยนต์พาเราผ่านด่านตรวจของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มาแล้ว ไม่นานนัก โรงเรือนผนังพลาสติกสีขาวก็เริ่มปรากฏให้เห็นตลอดสองข้างทาง
ปัจจุบัน โครงการหลวงย่างเข้าสู่ทศวรรษที่สี่ นับตั้งแต่วันแรกที่ต้นบ๊วยต้นแรกบนดอกอ่างขางหยั่งราก
ทุกวันนี้มูลนิธิโครงการหลวงมีสถานีเกษตรและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงนับสิบแห่งกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ “ที่นี่เราปรับปรุงพันธุ์ ทำลูกผสม เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและลดขั้นตอน แทนการสั่งซื้อจากเมืองนอกที่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์” พรพิมล ไชยมาลา นักวิชาการซึ่งรับผิดชอบงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ เล่าถึงงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ดอกไม้ “ถ้าสั่งซื้อเขาตลอด ต่อให้เขาบอกหัวละร้อย เราก็ต้องเอา ไม่มีทางเลือกอื่น”
จากห้องทดลองของพรพิมลลึกเข้าไปในขุนเขาประมาณสิบห้ากิโลเมตร เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ช่อ แซ่ลี เกษตรกรชาวม้งอายุ 34 ปี กำลังถอนวัชพืชจากแปลงเบญจมาศของเขา “ทำมาสิบปีแล้วแต่เพิ่งมาเป็นของตัวเองได้ห้าปี ตอนแรกผมเช่าโรงเรือนอยู่ในสถานีครับ” ช่อเล่า
เขาอยู่ในครอบครัวซึ่งเคยปลูกฝิ่น และต่อมาได้เป็นเกษตรกรในโครงการ ภายหลังเมื่อเริ่มมีทุนรอนและปลูกดอกไม้เป็นแล้ว ก็กู้เงินจาก ธกส.มาทำโรงเรือน โดยได้รับความช่วยเหลือเรื่องการติดต่อธนาคารจากเจ้าหน้าที่โครงการ
โครงการหลวงไม่เพียงรับซื้อผลผลิตในราคาสูง แต่ยังมีมาตรฐานในการคัดเลือกคุณภาพผลผลิต อย่างเข้มงวดที่โรงคัดคุณภาพและบรรจุหีบห่อในสถานีขุนวาง
พนักงานกำลังบรรจุดอกเบญจมาศหลากสีในห่อพลาสติกพร้อมสติ๊กเกอร์ระบุวันเดือนปีที่ผลิต สติ๊กเกอร์เหล่านี้เป็นเสมือนหมายเลขประจำตัวของผลิตภัณฑ์ ซึ่งตัวเลขหลายหลักนั้นสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกได้ทันที
นับแต่วันแรกที่มีการทดลองปลูกพืชทดแทนฝิ่น องค์ความรู้ที่สั่งสมจากการลองผิดลองถูกและการแก้ปัญหาสารพัดบนพื้นที่สูงตลอดกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆในประเทศ หากยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงต่างประเทศด้วย “เดิมอัฟกานิสถานเป็นแหล่งปลูกผลไม้ส่งยุโรป แอปริคอต เขาอร่อยมาก” สุทัศน์ ปลื้มปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันและวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เล่าถึงการเดินทางสู่ดินแดนที่อากาศเย็นและมีทรัพยากรสมบูรณ์พร้อมสำหรับปลูกผลไม้เมืองหนาว
แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นประเทศที่ปลูกฝิ่นมากที่สุดในโลก “เขาเห็นเราประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาฝิ่นได้โดยไม่ต้องสู้รบปรบมืออะไรกัน จึงอยากได้คำแนะนำ”
ในปี พ.ศ. 2549 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง และคณะผู้เชี่ยวชาญของโครงการหลวง จึงเดินทางสู่อัฟกานิสถานเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมวางโครงการนำร่องพัฒนาระบบธุรกิจและการตลาดของพืชผักผลไม้เมืองหนาว
การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวและธุรกิจการเกษตร เช่น การคัดคุณภาพ การบรรจุหีบห่อ ไปจนถึงระบบการขนส่ง ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่โครงการหลวงได้หยิบยื่นแลกเปลี่ยนในฐานะที่ปรึกษา นอกจากนี้ยังได้ช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ของอัฟกานิสถาน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้ขายได้ราคาสูง เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเลิกปลูกฝิ่นและหันกลับมาปลูกพืชผักผลไม้อื่นๆแทน
นอกจากอัฟกานิสถานแล้ว ภูฏาน โคลัมเบีย และ ลาว เป็นอีกสามประเทศที่ได้รับหรือแลกเปลี่ยนความรู้กับโครงการหลวง ที่ผ่านมาพืชผลเมืองหนาวช่วยแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในภูฏาน และ โคลัมเบีย และเป็นความหวังว่าจะบรรเทาปัญหาการปลูกฝิ่นในลาว
“ในอนาคตเราจะทำไปเรื่อยๆ แต่คิดว่าคงไม่ขยายจนใหญ่โต เพราะมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อทำอย่างเราในที่อื่นแล้ว” หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเล่าถึงแผนการในอนาคตของโครงการหลวง โดยการสร้างบุคลากรและถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อขยายผลของโครงการ ไปยังพื้นที่สูงอื่นๆ ในประเทศไทย.
……………………………………
ขอบคุณ ที่มา: นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
ภาพประกอบบางส่วนจากอัลบั้มรูปสุดรักของคุณเตือนใจ ดีเทศน์
พระองค์ทรงมีจิตใจที่มุ่งมั่นอย่างสูง ความอดทน มานะบากบั่น น้อยคนนักจะทำได้ เป็นเพราะความรักนั่นเอง รักบ้านเมือง รักคนไทย รักลูกๆทุกคน …ลูกๆคนไทย จึงรักพระองค์
พระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงปกเกล้าเหล่าพสกนิกร โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทุกท้องถิ่น เป็นท้องที่ห่างไกลทุรกันดารเพียงใด ก็มิได้ทรงย่อท้อ เสด็จไปเยี่ยมเยียนขจัดปัดเป่าความทุกข์ ความยากไร้แก่ทวยราษฎร์ โดยมิทรงรังเกียรติ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ
พระองค์ท่านเป็นคนที่เสียสละ ไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทบทั้งสิ้น หวังแต่ประชาชนของท่านจะได้กินดีอยู่มีแผ่นดินท่ีอุดสมบูรณ์พี่น้องรักใคร่กัน เป็นเมืองสยามเมืองยิ้ม เรารักพ่อหลวง ทรงพระเจรฺญค่ะ
ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ….
คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่ายไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ
พระราชดำรัส พระราชทาน เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒